ข้อมูลพื้นฐาน
     อำเภอพัฒนานิคม มีพื้นที่ทั้งหมด 848 ตารางกิโลเมตรหรือ 530,000 ไร่ พื้นที่ถือครอง 518,489 ไร่ พื้นที่การเกษตร 314,459 ไร่ ประชากร 60,162 คน การปกครองแบ่งออกเป็น 9 ตำบล มี 4 เทศบาล 7 องค์การบริหารส่วนตำบล ครัวเรือนทั้งหมด 20,176 ครอบครัว เป็นเกษตรกร 7,452 ครัวเรือน ประกอบอาชีพด้านกสิกรรม ได้แก่ ทำนาข้าว ปลูกพืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ทานตะวัน ถั่วเขียว ฯลฯ ด้านปศุสัตว์ โคนม โคเนื้อ ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ด้านประมง เลี้ยงปลา บางส่วน

เส้นทางคมนาคม
การคมนาคมเดินทางมาอำเภอ มีเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง คือ
1. ทางรถยนต์ ถนนสายตรี (ลพบุรี-วังม่วง)
2. ทางรถยนต์ ถนนสายหล่มสัก - เพชรบูรณ์
3. ทางรถไฟ ถนนสายกรุงเทพฯ - หนองคาย

การคมนาคมภายในตำบลและหมู่บ้านที่สำคัญ มีดังนี้
1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (สระบุรี – หล่มสัก)
2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3333
3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3017 (ลพบุรี – วังม่วง)
4. ทางหลวงชนบท ซอย 21 – วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี
5. ทางหลวงชนบท ซอย 24 – โคกสลุง
6. ทางหลวงชนบท ซอย 14 – ช่องสาริกา
7. ทางหลวงชนบท ซอย 27 – มะนาวหวาน

การปกครอง
การปกครองและการแบ่งเขตการปกครอง (ที่มา : ข้อมูลที่ทำการปกครองอำเภอ)
อำเภอพัฒนานิคม แบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 89 หมู่บ้าน ดังนี้
1. ตำบลพัฒนานิคม 14 หมู่บ้าน
2. ตำบลช่องสาริกา 13 หมู่บ้าน
3. ตำบลมะนาวหวาน 8 หมู่บ้าน
4. ตำบลดีลัง 7 หมู่บ้าน
5. ตำบลโคกสลุง 11 หมู่บ้าน
6. ตำบลชอนน้อย 5 หมู่บ้าน
7. ตำบลหนองบัว 11 หมู่บ้าน
8. ตำบลห้วยขุนราม 11 หมู่บ้าน
9. ตำบลน้ำสุด 9 หมู่บ้าน

การปกครองท้องถิ่น
มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
1) เทศบาลตำบลพัฒนานิคม ครอบคลุม หมู่ที่ 6, 8, 9, 12, 13 บางส่วน
2) เทศบาลตำบลเขาพระยาเดินธง ครอบคลุมส่วนที่เหลือจากเทศบาลตำบลพัฒนานิคม
3) เทศบาลตำบลแก่งเสือเต้น ครอบคลุม หมู่ที่ 1, 2, 4, 7, 11บางส่วน
4) เทศบาลตำบลดีลัง ครอบคลุม หมูที่ 1-7 ตำบลดีลัง
5) องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย

1. องค์การบริหารส่วนตำบลช่องสาริกา
2. องค์การบริหารส่วนตำบลมะนาวหวาน
3. องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง
4. องค์การบริหารส่วนตำบลชอนน้อย
5. องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว
6. องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม
7. องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำสุด
กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองพระพุทธ บาทสระบุรี ขึ้นในท้องที่อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และท้องที่อำเภอพระพุทธบาท อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยแยกเอาตำบลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับอำเภอพระพุทธบาท ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ ทำการนิคมสร้างตนเอง

นิคมสร้างตนเองแห่งนี้มีหน้าที่จัดสรรที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่ อาศัยจากท้องที่ต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศได้ขยายอาณาเขต การจัดสรรที่ดินออกไปอย่างกว้างขวาง ตามนโยบายของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย
หลังจากจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีโจรผู้ร้ายชุกชุมรบกวนความสงบสุขของสมาชิกนิคมสร้างตนเอง ด้วยเหตุนี้ กรมประชาสงเคราะห์ จึงมีนโยบายรวมเขตท้องที่อำเภอต่าง ๆ ในเขตจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี เพื่อยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอได้ ประชุมหารือเรื่องนี้ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2503 และในที่สุดได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "กิ่งอำเภอ พัฒนานิคม" เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 โดยแยกหมู่บ้านที่ 6,8,9,10,11,12,13 และ 14 ตำบลธารเกษม อำเภอพระพุทธบาท จัดตั้งเป็นตำบลช่องสาริกา โอนตำบลหนองบัว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มาขึ้นในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอพัฒนานิคม จากนั้นยังได้โอนตำบลโคกสลุง ตำบลมะนาวหวาน อำเภอชัยบาดาล และตำบลดีลัง อำเภอโคกสำโรง มาขึ้นในเขตการปกครองของ อำเภอพัฒนานิคมเช่นเดียวกัน
ดังนั้นกิ่งอำเภอพัฒนานิคม จึงมีตำบลต่าง ๆ ขึ้นอยู่ในเขตการปกครอง 5 ตำบล รวม 30 หมู่บ้าน ตัวกิ่งอำเภอ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลดีลัง ต่อมาได้มีพระราชกฤษฏีกายกฐานะกิ่งอำเภอพัฒนานิคมเป็นอำเภอพัฒนานิคม เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม พ.ศ.2506 ปัจจุบันได้แบ่ง การปกครองตำบลออกเป็น 9 ตำบล 89 หมู่บ้าน
คำว่า "พัฒนา" หมายถึงความเจริญงอกงาม ได้รวมเอาชื่อเดิมของนิคมสร้างตนเอง ไว้ด้วยเป็น "พัฒนานิคม"
สมัยก่อนเมื่อเป็นกิ่งอำเภอใหม่ๆ ถนนหนทางยังไม่ได้ลงลูกรัง เป็นถนนดินตลอดเมื่อถึงฤดูฝนการคมนาคมไม่สามารถติดต่อกัน โดยใช้ยานพาหนะได้ เมื่อถึงฤดูแล้งก็ขาดแคลนน้ำ เพราะอยู่ในที่สูง และพื้นที่บางส่วนเป็นดินทรายมีสภาพเหมือนภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ปัจจุบันถนนส่วนมากลงลูกรังการคมนาคมสะดวกขึ้นมาก
อำเภอพัฒนานิคม มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอชัยบาดาลและอำเภอท่าหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอมวกเหล็ก (จังหวัดสระบุรี)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอมวกเหล็ก อำเภอวังม่วง อำเภอแก่งคอย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอพระพุทธบาท (จังหวัดสระบุรี)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองลพบุรีและอำเภอโคกสำโรง
วิสัยทัศน์

"เมืองแห่งการท่องเที่ยว แหล่งอาหารปลอดภัย และสังคมน่าอยู่"

พันธกิจ
1) พัฒนาและส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศิลปะวัฒนธรรม และเชิงสุขภาพให้ได้มาตรฐาน
2) พัฒนาและยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ พัฒนาสู่เมืองอาหารปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน
3) ส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐาน
4) ยกระดับการพัฒนาทางการแพทย์ และการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐาน
5) พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
6) พัฒนาการบริหารจัดการแบบบูรณาการ และการรักษาความสงบเรียบร้อยให้มีประสิทธิภาพ